โรงเรียนราษฎร์ร่วมสามัคคี มีการดําเนินงานโครงการสถานศึกษาปลอดบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า และปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 7 มาตรการ ครอบคลุม (1) นโยบาย “โรงเรียนปลอดบุหรี่”ของโรงเรียน (2) การบริหารจัดการในโรงเรียน (3) การจัดสภาพแวดล้อมเพื่อ “โรงเรียนปลอดบุหรี่” (4) การสอดแทรกในการเรียนการสอนและกิจกรรมนอกหลักสูตร (5) การมีส่วนร่วมของนักเรียน (6) การดูแลช่วยเหลือนักเรียนไม่ให้สูบบุหรี่ และ (7) กิจกรรมร่วมระหว่างโรงเรียนกับชุมชน
มาตรการที่ 1 นโยบาย “โรงเรียนปลอดบุหรี่”ของโรงเรียน
วิธีการดำเนินงาน โรงเรียนดำเนินการประกาศนโยบายโรงเรียนเป็นเขตปลอดบุหรี่ตามกฎหมายเป็น 2 รูปแบบ คือ 1) การประกาศนโยบายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร คือ ประกาศหน้าเสาธง โดยจัดทำป้ายโรงเรียนเป็นโรงเรียนปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย แล้วนำไปติดไว้บริเวณที่เห็นเด่นชัด และนำนักเรียนกล่าวปฏิญาณตนว่าจะสนับสนุนนโยบายไม่สูบบุหรี่ และเดินรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ในวันงดสูบบุหรี่โลก




2) การประกาศนโยบายที่เป็นลายลักษณ์อักษร คือ ประกาศนโยบายโรงเรียนเป็นโรงเรียนเขตปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย โดยการจัดสภาพแวดล้อมโดยการติดประกาศในบริเวณโรงเรียนที่เห็นเด่นชัด ทำแผ่นพับประชาสัมพันธ์และจัดทำป้ายนิเทศในห้องเรียน

มาตรการที่ 2 การบริหารจัดการในโรงเรียน
วิธีการดำเนินงาน
1) ครูผู้รับผิดชอบกิจกรรมโรงเรียนปลอดบุหรี่ และปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นำเสนอผู้บริหารสถานศึกษา เกี่ยวกับบทบาทของโรงเรียน ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพ ของ ผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535
2) โรงเรียนแต่งตั้งคณะทำงานด้านการรณรงค์ป้องกันและแก้ปัญหาการสูบบุหรี่ในโรงเรียนเป็นลายลักษณ์อักษร โดยคณะทำงานประกอบด้วยผู้บริหาร ครูแกนนำ ครูที่ปรึกษา คณะกรรมการนักเรียนและนักเรียนแกนนำ
3) โรงเรียนจัดประชุมคณะทำงานด้านการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่ในโรงเรียนเพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์และวางแผนการดำเนินงาน

มาตรการที่ 3 การจัดสภาพแวดล้อมเพื่อ “โรงเรียนปลอดบุหรี่”
วิธีการดำเนินงาน
1) จัดทำป้ายโรงเรียนเป็นเขตปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย
2) กำหนดพื้นที่ป้ายโรงเรียนเป็นเขตปลอดบุหรี่ตามกฎหมายในบริเวณต่าง ๆ ที่เห็นได้ชัด
3) จัดสภาพแวดล้อมและดูแลป้ายโรงเรียนให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ตามกฎหมายให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์อยู่เสมอ


มาตรการที่ 4 การสอดแทรกในการเรียนการสอนและกิจกรรมนอกหลักสูตร
วิธีการดำเนินงาน
1) ครูศึกษาคู่มือครูจัดกิจกรรมเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่
2) ครูประจำกลุ่มสาระการเรียนรู้ชี้แจง เพื่อวางแผนบูรณาการความรู้เรื่องบุหรี่ ในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ เช่น
– กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง ระบบหายใจ
– กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ เรื่อง อ่านบทความเกี่ยวกับบุหรี่ ทำโพสเตอร์ No Smoking
– กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพละศึกษา เรื่อง กีฬาต้านยาเสพติด โครงงานโรงเรียนปลอดบุหรี่
– กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เรื่อง การประกวดคำขวัญ การเขียนเรียงความ
– กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง การคำนวณค่าใช้จ่ายที่สูญเสียไปจากการสูบบุหรี่
– กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เช่น โครงงานจิตอาสาเชิญชวนชุมชนปลอดบุหรี่
3) โรงเรียนจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามการแผนบูรณาการและนำเสนอผลงานนักเรียนโดยการจัดป้ายนิเทศในชั้นเรียน
4) โรงเรียนเชิญวิทยากรจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และตำรวจมาให้ความรู้





มาตรการที่ 5 การมีส่วนร่วมของนักเรียน
วิธีการดำเนินงาน
1) กลุ่มนักเรียนแกนนำเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่
– โรงเรียนประชาสัมพันธ์รับสมัครนักเรียนที่มีจิตอาสา เป็นนักเรียนแกนนำรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
– ชี้แจงการดำเนินงานให้กับนักเรียนแกนนำรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
– ส่งเสริมให้นักเรียนแกนนำเป็นคณะทำงานด้านการรณรงค์ป้องกันแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่ ในโรงเรียน
– ส่งเสริมนักเรียนแกนนำจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ อย่างหลากหลาย ในโรงเรียน เช่น กิจกรรมหน้าเสาธง จัดป้ายนิเทศ เป็นต้น
2) กลุ่มนักเรียนทั่วไป
– ครูผู้สอนในรายวิชาต่าง ๆ สนับสนุนให้นักเรียนแต่ละระดับชั้นมีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ เช่น การวาดภาพระบายสีภาพการ์ตูน จัดบอร์ดความรู้
โรงเรียนส่งเสริมให้นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมต่อต้านยาเสพติดทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกที่จัดขึ้นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับนักเรียน



มาตรการที่ 6 การดูแลช่วยเหลือนักเรียนไม่ให้สูบบุหรี่
วิธีการดำเนินงาน
1) โรงเรียนแจ้งให้ผู้ปกครองนักเรียนทราบนโยบาย โรงเรียนเป็นเขตปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย และการห้ามสูบบุหรี่ในโรงเรียน
2) ครูประจำชั้นคัดกรองนักเรียนเป็นสามกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มสูบบุหรี่
3) ครูสัมภาษณ์นักเรียนกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มสูบบุหรี่ เพื่อบันทึกประวัติ
4) โรงเรียนดำเนินการกับนักเรียนที่สูบบุหรี่ และเต็มใจบำบัด ดังนี้
– ให้นักเรียนทำแบบประเมินการติดบุหรี่ แล้วจำแนกนักเรียนเพื่อจัดกลุ่ม
– เชิญผู้ปกครองมาทำสัญญาดูแลนักเรียนไม่ให้สูบบุหรี่ที่บ้าน
– นักเรียนลงนามในสัญญาไม่สูบบุหรี่ในโรงเรียนหากพบว่านักเรียนฝ่าฝืนจะมีมาตรการต่าง ๆ เช่น การบำเพ็ญประโยชน์
หมายเหตุ ข้อ 3 และ 4 จัดการดำเนินงานไว้เป็นแนวทาง เพราะ ไม่มีนักเรียนกลุ่มเสี่ยง และ กลุ่มสูบบุหรี่



มาตรการที่ 7 กิจกรรมร่วมระหว่างโรงเรียนกับชุมชน
วิธีการดำเนินงาน
1) โรงเรียนวางแผนประชาสัมพันธ์โรงเรียนเป็นเขตปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย ด้วยวิธีการที่หลากหลาย คือ เพลงเสียงตามสาย เดินรณรงค์ จัดป้ายนิเทศ ป้ายประกาศ และจัดให้ความรู้เรื่องบุหรี่ตามโอกาสที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง
2) โรงเรียนกำหนดช่วงประชาสัมพันธ์ต่อเนื่องตลอดปี และในโอกาสวันสำคัญต่าง ๆ เช่น วันงดสูบบุหรี่โลก วันต่อต้านยาเสพติดโลก วันประชุมผู้ปกครองนักเรียน เป็นต้น
3) โรงเรียนจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ตามแผนการที่วางไว้
4) ครูสอดแทรกความรู้เรื่องบุหรี่และสุขภาพในการประชุมผู้ปกครองโรงเรียนประชาสัมพันธ์ความรู้เรื่องบุหรี่และสุขภาพโดยผ่านเครือข่ายออนไลน์
5) โรงเรียนขอความร่วมมือจากผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในการสนับสนุนการไม่สูบบุหรี่ในโรงเรียนและชุมชน
6) โรงเรียนใช้กิจกรรมเยี่ยมบ้านเป็นสื่อสร้างสัมพันธ์เชิญชวนผู้ปกครองดูแลนักเรียนให้ปลอดบุหรี่
7) โรงเรียนจัดกิจกรรมเดินรณรงค์แจกสติ๊กเกอร์รณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ในวันสำคัญต่าง ๆ เช่นวันงดสูบบุหรี่โลก วันต่อต้านยาเสพติดสากล
8) โรงเรียนบูรณาการความรู้เรื่องบุหรี่และสุขภาพร่วมกับกิจกรรมต่าง ๆ ในท้องถิ่น เช่น ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา
9) โรงเรียนส่งเสริมให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมปลอดบุหรี่ เช่น นักเรียนทำการ์ดวันพ่อเพื่อชักชวนพ่อให้เลิกบุหรี่
10) โรงเรียนมีเครือข่ายการทำงานระหว่างนักเรียน ครู ผู้ปกครอง ผู้นำท้องถิ่นและผู้นำชุมชนซึ่งโรงเรียนได้ประสานสร้างเครือข่ายขึ้น เพื่อดูแลเกี่ยวกับยาเสพติด

